ข่าวทั่วไปข่าวบันเทิงความรู้ความรู้ทั่วไป

รู้ยัง…เงินประกันสังคม รับคืนได้ มาดูเงื่อนไขการรับเงินคืนจาก “ประกันสังคม” อย่าทิ้งเงินก้อนโตให้เสียเปล่า

ในประเทศไทยกองทุนเงินทดแทน นับเป็นก้าวแรกของการประกันสังคมไทย ที่ให้หลักประกันแก่ลูกจ้างกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยด้วยโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน

ทั้งนี้ กองทุนเงินทดแทน เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2515 ภายใต้การบริหารของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน กรมแรงงาน ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 โดยในปีแรกของ การให้ความคุ้มครอง จะครอบคลุมเฉพาะ สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 20 คนขึ้นไปที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ แล้วจึงค่อย ๆ ขยายความคุ้มครองออกไปจนครบทุกจังหวัด ทั่วประเทศใน วันที่ 1 กรกฎาคม 2531 จวบจนกระทั่งได้มีการผลักดันพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 2 กันยายน 2533 เป็นต้นมา

ประเทศไทยจึงมีการประกันสังคมอย่างเต็มรูปแบบ โดยลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครอง ทั้งในเรื่องการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยทุพพลภาพ และตาย ทั้งนี้เนื่องและไม่เนื่องจากการทำงาน รวมไปถึงการคลอดบุตรสงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ

โดยเงินประกันสังคมเป็นระบบที่บังคับให้ทุกคนออมเงินส่วนหนึ่ง (5% ของเงินเดือน) ข้อดีคือ ลูกจ้างจะจ่ายเงินประกันนี้เพียงแค่ 1 ใน 3 ส่วนเท่านั้น เพราะผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ

1. รัฐบาล

2. นายจ้าง

3. ลูกจ้าง

เรามาดูกันว่า สำนักงานประกันสังคม เขาเอาเงินที่เราจ่ายทุกเดือนไปทำอะไร ลูกจ้างอย่างเราต้องรู้และต้องศึกษาไว้ มีดังนี้ ยกตัวอย่าง เราถูกหักเงินประกันสังคมเดือนละ 750 บาท แล้วนายจ้างจ่ายสมทบ ทุกเดือนให้อีก 750 บาท ต่อคน ต่อเดือน เช่นกัน โดยในแต่ละเดือนของประกันสังคม เงิน 750 บาท จะถูกแบ่งออกเป็น

225 บาท ดูแลเรื่องเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และตาย

ถ้าไม่ใช้สิทธิ เงินส่วนนี้ก็จะหายไป .. ไม่ได้คืน

75 บาท ใช้ประกันการว่างงาน

ถ้าว่างงานเมื่อไหร่ ก็เอาเงินส่วนนี้มาใช้ในระหว่างตกงาน รอหา งานใหม่ แต่ถ้าไม่ว่างงานเลย เงินส่วนนี้ก็จะหายไป .. ไม่ได้คืน

450 บาท เก็บเป็นเงินออม จะได้คืนเมื่ออายุครบ 55 ปี

โดยเงื่อนไข การได้เงินก้อนสุดท้าย (เงินออม เมื่อครบ 55 ปี คืน) คือ

1. จ่ายประกันสังคม ไม่ครบ 1 ปี

ได้คืนส่วนที่จ่ายเป็นเงินก้อน เรียกว่าบำเหน็จชราภาพ

เช่น จ่ายเดือนละ 750 บาทมาโดยตลอด 10 เดือน (750 บาท จะถูกหักเป็นเงินออม 450 บาท) เมื่ออายุครบ 55 ปี จะได้คืน 450 บาท x 10 เดือน = 4,500 บาท

2. จ่ายครบ 1 ปี แต่ ไม่ถึง 15 ปี

จะได้เป็นเงินก้อนเรียกว่าบำเหน็จเช่นกัน แต่จะมากกว่าข้อ 1. คือ ได้ส่วนที่นายจ้างสมทบไว้ด้วย

เช่น จ่าย 750 บาท ตลอด 7 ปี (84 เดือน) ที่จะได้รับคืนเมื่ออายุครบ 55 ปี คือ 450 บาท (ส่วนที่ตนเองจ่าย) + 450 บาท (ส่วนที่นายจ้างจ่าย) x 84 เดือน = 75,600 บาท

3. จ่ายตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป

จะได้รับเป็นเงินรายเดือน เรียกว่า บำนาญ-ชราภาพ โดยคำนวณ 2 กรณี คือ

– กรณีจ่ายครบ 15 ปีเต็ม จะได้รับรายเดือน คือ 20% ของเฉลี่ยเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย สมมติว่า 60 เดือนสุดท้าย เฉลี่ยแล้วเท่ากับ 15,000 บาท จะได้รับ 20% คือ เดือนละ 3,000 บาท ไปจนตาย

– กรณีสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับโบนัสเพิ่ม 1.5% ของเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย หากครบปี เช่น จ่ายครบ 20 ปี รายเดือนที่จะได้รับ คือ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือน + 1.5% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือน x 5 ปี (จ่าย 20 ปี เกินจากที่กำหนดขั้นต่ำมา 5 ปี)

สมมติว่า เฉลี่ยเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย เท่ากับ 15,000 บาท จะได้รายเดือน คือ (20% x 15,000 บาท ) = 3,000 บาท + (1.5% x 15,000 บาท x 5 ปี) = 3,375 บาท รวมเป็น 6,375 บาท ต่อเดือนไปจนตาย

สำหรับกรณีที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้ว แต่ยังไม่ครบ 5 ปีแล้วเสียชีวิตไปก่อน จะได้รับบำเหน็จ 10 เท่า ของเดือนสุดท้าย ของ เงินบำนาญ ที่ได้รับ เช่น รับเงินรายเดือน เดือนล่าสุด 6,375 บาท พอเสียชีวิต จะได้รับ 63,750 บาท

ข้อมูล : สำนักงานประกันสังคม

ใส่ความเห็น