ข่าวทั่วไปข่าวบันเทิงข่าวสารท่องเที่ยวความรู้ทั่วไป

เรียนอะไร “ตกงาน” หรือหางานทำไม่ได้ ไม่มีใครจ้าง พอรู้ว่าเรียนแบบนี้ ต้องรีบเปลี่ยนใจเลย !!

เรียนอะไร “ตกงาน” หรือหางานทำไม่ได้ ไม่มีใครจ้าง พอรู้ว่าเรียนแบบนี้ ต้องรีบเปลี่ยนใจเลย !!

 

คุณธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่าอนาคตบัณฑิตใหม่สายสังคมศาสตร์ไม่สดใสเลยในปีหน้า

 

 

 

พูดตรงไปตรงมาคือ “ตกงาน” หรือหางานทำไม่ได้ ไม่มีใครจ้าง

คุณธนิตแนะว่า ถ้าไม่อยากตกงาน ให้หันไปเรียนสายอาชีพระดับ ป.ว.ช. และ ป.ว.ส. หรือประเภทช่างต่างๆ

สนับสนุนแนวคิดคุณธนิตเต็มๆ แม้จะเห็นอยู่ว่า หลายทศวรรษแล้วที่บัณฑิตสายสังคมศาสตร์ได้ชื่อว่าตกงานเป็นประจำสม่ำเสมอ

โดยเฉพาะถ้าคิดจะหางานให้ตรงกับวิชาที่เรียนจบมา

อนึ่ง หากว่ากันเฉพาะ “ปริญญาตรี” คงต้องยอมรับกันด้วยว่า ไม่เฉพาะสายสังคมศาสตร์เท่านั้น เพราะสำหรับสังคมไทยยุคปัจจุบัน ที่ความหลงใหลได้ปลื้มใน “ปริญญา” ว่าเป็นเครื่องมือยกระดับทางสังคม ยังหลงเหลืออยู่

“ปริญญาตรี” ถือว่า “กระจอกงอกง่อยมาก”

แม้ไม่ได้ทำงานสายวิชาการหรือไม่ใช่คนรักการเรียนรู้อย่างจริงจัง คนไทยหลายคนก็จำต้องหาทางเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก เพื่อยกระดับสถานะทางสังคม เงินเดือน และอื่นๆ อีกมากมาย

ถ้าไม่นับคนที่เรียนจริงในหลักสูตรปริญญาโท/เอกที่เน้นความรู้ทางวิชาการจริง กล่าวได้ว่า หลายคนที่มีเงินมักนิยมไปชุบตัวใน “บ่อทอง” อันได้แก่ไปเรียนมหาวิทยาลัยสักแห่งในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและประเทศทางยุโรปที่คนไทยรักชาติมักบอกว่ามันเป็นประเทศทุนสามานย์อันชั่วช้า

ส่วนคนเงินน้อยก็เรียนหลักสูตรปริญญาโท-เอกแบบรวบรัดที่เกิดขึ้นเกลื่อนเมือง เข้าง่ายออกง่าย ได้ปริญญาง่าย

ดอกเตอร์ปริญญาหลายใบ และดอกเตอร์ปลอม โดยเฉพาะสายสังคมศาสตร์ (ซึ่งหากเรียนเล่นๆ พอให้ได้ใบปริญญา ไม่ใช่เพื่อความรู้ ย่อมง่ายกว่าและค่าใช้จ่ายถูกกว่าสายวิทยาศาสตร์ แถมจะง่ายกว่าสายอาชีพอีกต่างหาก) จึงมีให้เห็นทั่วไปในสังคมไทย แม้หลายคนในบรรดาด๊อกเหล่านี้ จะสมควรกลับไปเรียนตรรกศาสตร์เบิ้องต้น ก่อนจะพูดออกสื่อทุกเรื่องทั้งๆที่ไม่รู้ก็ตาม

โดยสรุปคือ บัณฑิตสายสังคมศาสตร์ตกงานไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ใหม่และควรเป็นแนวโน้มใหม่ในสังคมไทยคือการหันมายอมรับคุณค่าของการเรียนและความรู้สายอาชีพ ซึ่งหลายประเทศอารยะทั่วโลกให้ความสำคัญกันมานานแล้ว

วิธีคิดแบบเดิมในสังคมไทย ว่าใครเรียนสายอาชีพคือไม่เก่ง เรียนสูงๆ ระดับปริญญาเพื่อไปเป็นเจ้าคนนายคน แล้วใช้คนอื่น “ออกแรง” ทำงานตามคำสั่งเรานั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นไปในปัจจุบัน

สำนักงานขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างนับพันทำงานในอาคารเดียวกันเป็นเรื่องของโลกเก่า โลกใหม่ มี “นาโนออฟฟิศ” ขนาดเล็กมาก ซึ่งปัจเจกแต่ละคนสามารถนั่งทำงานที่ไหนก็ได้แม้ในห้องนอนผ่านระบบออนไลน์ ต่างมีความสามารถเฉพาะตนและมีสัมมาอาชีวะของตน แต่สามารถจับมือกันผลักดันงานบางอย่างร่วมกัน เพื่อสร้างรายได้และผลประโยชน์ร่วมกันในฐานะหุ้นส่วน มิใช่ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างที่ลูกจ้างต้อง “พึ่งพา” นายจ้าง

“ช่าง” เป็นงานที่แสดงให้เห็นความสามารถเฉพาะตนของปัจเจก ไม่ใช่ทุกคนสามารถเป็นช่าง และอาชีพ “ช่าง” ไม่เคยตกงาน ช่างยุคใหม่เสนองานของตนผ่านโลกออนไลน์ ว่าจ้างและรับงานกันทางออนไลน์

งานช่างฝีมือไม่ใช่งานต่ำต้อยของคนโง่ที่เรียนหนังสือไม่เก่ง ตามหลักพหุปัญญาของโฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ ช่างที่เก่งๆ ต้องมีความสามารถอย่างน้อย 5 ด้าน จาก 8 ด้าน คือ ด้านสังคมและปฏิสัมพันธ์ ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ ด้านธรรมชาติ ไปจนถึงด้านการมองเห็น / มิติสัมพันธ์

ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองทั่วโลก การรู้จักทำมาหากินด้วย “สัมมาอาชีวะ” ของตน เป็นสิ่งสำคัญที่สุด และปริญญาโดยเฉพาะปริญญาตรี ไม่ใช่เครื่องหมายรับรองความสามารถประเภทนี้ ยิ่งหากเป็นบัณฑิตสายสังคมศาสตร์ผู้เรียนจบมาแบบงงๆ ยอมเชื่อฟังคำล่อลวงของผู้มีอำนาจรุ่นเก่าที่หลอกว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อยอมจำนนและเป็นทาสเผด็จการเสมอ

เรียน ป.ว.ช. ป.ว.ส. แล้วมีความรู้ความสามารถด้านช่างติดตัวไปประกอบสัมมาอาชีวะได้ ย่อมดีกว่าเรียนปริญญาตรีแบบงงๆ ไม่รู้อะไรสักเรื่อง

ใส่ความเห็น